เกี่ยวกับเรา


ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล

วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(Digital Innovation and Transformation Center ; DITC
College of Arts, Media and Technology. Chiang Mai University)


         ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 (ชื่อเดิมคือศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ (Knowledge and Innovation Center ; KIC)) มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาด้วยการพัฒนาทักษะความรู้และความสามารถด้านดิจิทัลให้กับกำลังคนและกลุ่มผู้ประกอบการ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการเติบโตธุรกิจดิจิทัล เพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีบทบาทในการเชื่อมต่อระหว่าง วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน


วิสัยทัศน์

เป็นผู้นำนวัตกรรมการศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนในเขตภาคเหนือ และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้เกิดรายได้


พันธกิจ 

สร้างกำลังคนช่วยเหลือภาคธุรกิจดิจิทัล


วัตถุประสงค์ 

1. ให้บริการวิชาการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

2. นำความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนและชุมชน ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาภาคเหนือเป็นหลัก และเพื่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

3. เป็นสถานฝึกอบรมบุคลากร และนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

4. สนับสนุนการเรียนการสอน การฝึกภาคปฏิบัติ และการวิจัยแก่นักศึกษา และคณาจารย์ของวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

5. ดำเนินการทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนในภาคเหนือ

6. แสวงหารายได้เพื่อเพิ่มพูนสินทรัพย์ให้กับส่วนงาน และมหาวิทยาลัย

7. เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและเกิดประโยชน์แก่ สังคมเป็นส่วนรวม บริการทางวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


ที่มาของทุนประเดิมคือได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยในส่วนของงานบริการวิชาการ 

การดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ประสบความสำเร็จในบทบาท หน้าที่ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งในประเด็นดังต่อไปนี้

1. นำความรู้ เทคโนโลยีนำความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนและชุมชน ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาภาคเหนือเป็นหลัก และเพื่อการพัฒนาประเทศโดยรวม เช่น โครงการล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) โครงการ Handmade Chiang Mai  โครงการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มผู้ผลิตชุมชนโดยเครือข่ายองค์ความรู้สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ)

2. เป็นสถานฝึกอบรมบุคลากร และนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นโครงการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์เพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยตามภูมิภาค โครงการบ่มเพาะและเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม

3. สนับสนุนการเรียนการสอน การฝึกภาคปฏิบัติ และการวิจัยแก่นักศึกษา และคณาจารย์ของวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4. แสวงหารายได้เพื่อเพิ่มพูนสินทรัพย์ให้กับส่วนงาน และมหาวิทยาลัย

ในการนี้ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้ จะมีการพัฒนาต่อยอดโดยการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีความพร้อมในการให้บริการด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้


การให้คำปรึกษาด้านการจัดการความรู้ KM Consultant 

ด้วยประสบการณ์ในการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ หน่วยให้คำปรึกษาด้านการจัดการความรู้ จึงมีความเชี่ยวชาญในการสกัดองค์ความรู้ในตัวบุคลากรในองค์กรมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้องค์กรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และสามารถพัฒนาตนเองได้ รวมถึงการสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร อันจะส่งผลให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

การพัฒนาดิจิตัลคอนเทนท์และแอนนิเมชัน Digital Content and Animation 

ด้วยเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย ผนวกกับประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานด้านแอนนิเมชัน อันหลากหลาย เช่น 2D, 3D, Stop Motion, Motion Capture, Stereoscopic, Visual Effect และการพัฒนาซอฟต์แวร์บนมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO 12207 และ ISO 29110 เราจึงเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลคอนเทนท์และแอนนิเมชันของภาคเหนือ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น ท่องเที่ยว หัตถกรรม และการบริการ 


การบ่มเพาะธุรกิจ Business Incubation 

ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายอุตสาหกรรม และกระบวนการบ่มเพาะที่มีประสิทธิภาพ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจจึงสามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการอบรมสัมมนาและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาธุรกิจตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ การสร้างต้นแบบ การผลิต จนถึงการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ


ออกแบบเชิงสร้างสรรค์ Creative Design 

ด้วยแนวคิดการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และการเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ หน่วยออกแบบเชิงสร้างสรรค์มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบ และการสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และลดระยะเวลาในการผลิต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ